พม. จับมือภาคีเครือข่ายจัดงานวันคนพิการสากล 2561 มุ่งเสริมพลังคนพิการด้วยการมีงานทำ และนวัตกรรมเพื่อคนทั้งมวล พร้อมเชิญเที่ยวงาน 3-4 ธ.ค.นี้ ที่ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ
วันที่ 3 ธ.ค. เวลา 10.00 น. พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีเปิด “งานวันคนพิการสากล ประจำปี 2561” ภายใต้แนวคิด “การเสริมพลังคนพิการ และการประกันการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเสมอภาค ทั่วถึง และเป็นธรรม” (Empowering persons with disabilities and ensuring inclusiveness and equality) พร้อมทั้งมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ คนพิการต้นแบบ 11 รางวัล รางวัล องค์กรที่สนับสนุนงานด้านคนพิการดีเยี่ยม 3 รางวัล องค์กรที่สนับสนุนงานด้านคนพิการดีเด่น 64 รางวัล หน่วยงานดีเด่นด้านการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ จำนวน 8 รางวัล และมาตรฐานองค์กรอื่นใดที่ให้บริการแก่คนพิการระดับดีมาก 32 รางวัล โดยมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนทั้งสิ้น 3,000 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ภาคีเครือข่ายคนพิการ องค์กรคนพิการทั้ง 7 ประเภท คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน องค์กรคนพิการระหว่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 4 ธันวาคม 2561 ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
พลเอก อนันตพร กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ 3 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคนพิการสากล พร้อมเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจของสังคมเกี่ยวกับคนพิการและเปิดโอกาสให้คนพิการได้มีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมของสังคมอย่างสร้างสรรค์ เป็นธรรม และเสมอภาคกับคนทั่วไป สำหรับ ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ได้ขับเคลื่อนการจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันคนพิการสากลอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) จึงได้ร่วมกับสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายคนพิการ อาทิ องค์กรคนพิการ 7 ประเภท คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ไอชาร์) กระทรวงแรงงาน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์กรภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดจัดงานวันคนพิการสากล ประจำปี 2561 ขึ้น เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันคนพิการสากล อีกทั้งเป็นการดำเนินการเพื่อสร้างความตระหนักและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้ร่วมกันสร้างสังคมที่เป็นธรรม เสมอภาค และเท่าเทียม อันเป็นสังคมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยแนวคิดในการจัดงานวันพิการสากลครั้งนี้สอดคล้องกับองค์การสหประชาชาติที่กำหนดหัวข้อการจัดงานตามประเด็นหลัก (Theme) คือ “การเสริมพลังคนพิการ และการประกันการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเสมอภาค ทั่วถึง และเป็นธรรม” (Empowering persons with disabilities and ensuring inclusiveness and equality) ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การจัดงานที่มุ่งเน้นถึงความสำเร็จของการอยู่ในสังคมของคนพิการได้อย่างยั่งยืน พร้อมการมีงานทำของคนพิการ ตามมาตรา 33 34 และ 35 ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำ สามารถดำรงชีวิตด้วยตนได้เองอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างโอกาสให้กับคนพิการ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนพิการอย่างมีศักดิ์ศรีและยั่งยืน
พลเอก อนันตพร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกิจกรรมที่สำคัญภายในงานแบ่งออกเป็น 3 โซน คือ 1) โซนพิธีการ เป็นรูปแบบเวทีเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรูปประสบการณ์ในการมีงานทำของคนพิการ ทั้งเรื่องการจ้างงานคนพิการอย่างมีศักดิ์ศรีและยั่งยืน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานด้านคนพิการ และปัจจัยความสำเร็จ (Key success) ร่วมกัน ระหว่างคนพิการ องค์กรคนพิการ ภาคเอกชน และภาครัฐ เวทีเสวนา ขอนแก่นโมเดล เดินหน้าการจ้างงานคนพิการผ่านชุมชน เป็นการยกตัวอย่างในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นที่มุ่งเน้นการใช้องค์ความรู้ในการขยายเครือข่ายคนพิการ และผู้ดูแลให้รวมตัวกัน ด้วยการร่วมคิดร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมทำงานเพื่อการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองได้ อีกทั้งการสร้างการมีส่วนร่วมด้วยประชารัฐระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ส่งผลให้เกิดการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 34 และ 35 ในหน่วยงานต่างๆ นอกจากนี้ มีกิจกรรม Work shop ช่องทางทำกิน "ขนมไทย ทำกินได้ ทำขายรวย" จากศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการบ้านทองพูนเผ่าพนัส จ.อุบลราชธานี เป็นผู้ฝึกสอนและให้คนพิการได้ทดลองปฏิบัติจริง 2) โซนนิทรรศการ ประกอบด้วย องค์กรคนพิการ 7 ประเภท และภาคเอกชนที่สนับสนุนงานด้านคนพิการดีเด่น และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และ 3) โซนบูธขายผลิตภัณฑ์คนพิการและกลุ่มอาชีพคนพิการ อาทิ งานศิลปะ งานฝีมือ งานประดิษฐ์ เครื่องใช้ งานจักรสาน งานตัดเย็บ งานทอผ้า อาหาร อาหารแปรรูป จำนวนกว่า 150 บูธ